เห็นที่ไหน ถ้าไม่ใช่ที่ใจของเรา
พระพุทธศาสนาสอนให้น้อมเข้ามาพิจารณาในตัวของเรานี้
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็อยู่ในตัวของเรา
สอนออกไปนอกนั้น นั่นไม่ใช่พุทธศาสนา มันเป็นโลก
เห็นอย่างไรเรียกว่า เห็นธรรม
เห็นภายนอกด้วยตาว่าตัวเราเป็นก้อนทุกข์
ทั้งเห็นภายในคือ เห็นชัดด้วยใจด้วย เห็นเป็นธรรมทั้งหมด
เราต้องพิจารณาให้ถึงสภาวะตามเป็นจริงของสังขาร
ให้เห็นชัดอย่างนั้นว่า มันเป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุ
เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป มันไม่ใช่ตัวตนของเรา
เรามัวเมามันก็หลงนะซิ หลงสมมติว่าเป็นตัวเป็นตน
จิตธรรมชาติเป็นของผ่องใส
อาคันตุกะกิเลสมันพาให้เศร้าหมอง
ที่มาหัดทำสมาธิภาวนานี่ ก็เพื่อขัดเกลาให้กิเลสหมดสิ้นไป
เพื่อให้มันใสสะอาดคืนตามสภาพเดิม
ให้เห็นจิตเห็นใจของตน จิตเป็นอย่างไร ใจเป็นอย่างไร
ความรู้เรื่องของจิตของใจนี่แหละ เรียกว่า
“วิชชา” เกิดขึ้นแล้ว เป็นปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
พระพุทธศาสนานี้ สอนมีจุดที่รวมได้ มีที่สุด หมดสิ้นสงสัย หมดเรื่อง
ไม่เหมือนวิชาชีพอื่น เขาสอนไม่มีที่สิ้นสุด
จึงว่า พุทธศาสนาสอนถึงที่สุด
แต่บุคคลผู้ทำตามนั้น ทำไม่ถึงที่สุด
จึงจำเป็นต้องทำสมาธิบ่อยๆ จนกว่ามันจะถึงที่สุด
พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้น ตรงไปตรงมา แต่คนไม่ชอบ
บังไว้ปกปิดไว้ มันจึงไม่เห็นของจริง
พระองค์สอนตรงไปตรงมาเลย
ท่านบอกว่าร่างกายเหมือนกับซากอสุภะ
ท่านว่าอย่างนั้น เป็นของปฏิกูลโสโครก
มีคนใดมาพูดว่าเราสกปรกนี่ โกรธใหญ่ ไม่ชอบใจเลย
แท้ที่จริงนั้น แก่นสารของพุทธศาสนา
คือ การปฏิบัติกาย วาจา ใจ ของตนให้บริสุทธิ์
ตามคำสอนของพระพุทธองค์ที่จริง คำสอนของพระพุทธองค์ สอนของจริง
ให้เห็นตามเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่าง
พระพุทธเจ้าสอนให้เข้าใจตามเป็นจริง
ว่า สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจะด้วยกรรมวิธีใดๆ ก็ตาม
เกิดขึ้นแล้ว มันไม่เที่ยง แปรปรวนไป เป็นทุกข์
เมื่อผู้มาพิจารณาตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเห็นจริง
ดังนี้แล้ว ย่อมไม่ยึดมั่น ถือมั่น
เบื่อหน่าย ปล่อยวางในสิ่งเหล่านั้นได้แล้ว
ย่อมมองเข้ามาเห็นจิตของตนผ่องใส
คราวนี้เห็นจิตของตนแล้ว
เมื่อเห็นจิตแล้ว มองดูเฉพาะจิตนั้น ไม่มองดูทุกข์
จิตนั้นก็เป็นอันหนึ่ง ทุกข์กลายเป็นอันหนึ่งของมันต่างหาก
เมื่อมองลึกเข้าไปก็เห็นแต่ใจ คือมีอารมณ์อันหนึ่งของมันต่างหาก
จะไม่เกี่ยวข้องด้วยอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น
พุทธศาสนาทั้งหมด ไม่ได้สอนที่อื่น นอกจาก “กายกับใจ”
ที่มา:http://variety.teenee.com/foodforbrain/14297.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น